6 ข้อควรรู้เมื่อจะซื้อบ้านหลังแรก [คู่มือสำหรับมือใหม่ที่อยากมีบ้าน]
เพราะบ้านไม่ใช่สินค้าที่สามารถตัดสินใจซื้อด้วยอารมณ์และความชอบได้เพียงอย่างเดียว ยิ่งถ้าเป็นบ้านหลังแรกที่เป็นเหมือนบ้านในฝัน ซึ่งคุณใช้เวลาเก็บหอมรอมริบเงินมาเป็นระยะเวลานานเพื่อเป็นเจ้าของด้วยแล้วละก็ ยิ่งต้องให้ความใส่ใจในการคัดสรรด้วยเหตุผลและปัจจัยที่ทำให้คุณได้บ้านที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด
ดังนั้นการเตรียมความพร้อมในด้านข้อมูลและความรู้ก่อนเริ่มต้นซื้อบ้านหลังแรกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยปูพื้นฐานการเลือกซื้อบ้านที่ตรงใจ เหมาะสมกับคุณภาพ และคุ้มค่ากับราคาที่เสียไปได้เป็นอย่างดี
แต่สำหรับใครที่ไม่รู้ว่า บ้านที่ดีสำหรับตัวเองหน้าเป็นแบบไหน หรือควรจะเลือกซื้อบ้านจากปัจจัยใด แนะนำให้ศึกษาได้จาก 6 ข้อควรรู้สำหรับซื้อบ้านหลังแรกที่คุณสามารถหยิบไอเดียทั้งหมดในบทความนี้นำไปประยุกต์ใช้ เพื่อเลือกซื้อบ้านด้วยตนเองได้เลยในทันที
1. เลือกซื้อบ้านหลังแรกจากงบประมาณ
เรื่องงบประมาณถือเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ที่คนเราใช้เพื่อตัดสินใจเลือกซื้อบ้านเลยก็ว่าได้ เพราะบ้านอาจเป็นสินทรัพย์เพียงไม่กี่อย่างที่ต้องใช้เวลาในการเก็บเงินหรือผ่อนจ่ายในระยะยาวกว่าค่อนชีวิตถึงจะได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แบบเต็มตัว
เพราะฉะนั้นการเตรียมความพร้อมในเรื่องงบประมาณและค่าใช้จ่ายต่างๆ จะช่วยทำให้คุณสามารถคำนวณเงินที่จะสามารถใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้อย่างเหมาะสมและไม่เกินตัวจนเกินไป ด้วยวิธีการง่ายๆ ดังนี้
วิธีที่ 1: ประเมินตนเองเรื่องค่าใช้จ่ายต่อเดือน
ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันช่วงก่อนซื้อบ้านหลังแรก หรือเป็นค่าใช้จ่ายในการที่ซื้อบ้านที่ควรรู้ทั้งหมด เช่น ค่าผ่อนชำระ ค่าธรรมเนียม ค่าส่วนกลาง ฯลฯ โดยจะต้องประมาณการออกมาเป็นตัวเลขว่า ในแต่ละเดือนคุณจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่เท่าไหร่
ทั้งนี้ก็เพื่อนำมาใช้เป็นเหตุผลในการตัดสินใจว่า ค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้อยู่ในระดับที่รายได้และเงินออมของเราครอบคลุมหรือไม่ ถ้าหากขาดเหลือมากจนเกินไป บ้านที่เราหมายตาไว้อาจจะต้องเก็บเงินเพิ่มขึ้น หรือลดราคาบ้านที่จะซื้อให้ถูกลง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกินตัวออกไปนั่นเอง
วิธีที่ 2: ประเมินตนเองเรื่องรายได้
รายได้นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ธนาคารใช้ในการพิจารณาความสามารถด้านการกู้สินเชื่อบ้าน ถ้าหากคุณประมาณรายได้ของตนเองมาอย่างรอบคอบว่าจะสามารถกู้ซื้อบ้านได้ช่วงราคาที่เท่าไหร่ก็จะทำให้การกู้ซื้อผ่านกับทางธนาคารผ่านได้ง่ายขึ้น
โดยสัดส่วนที่เหมาะสมของภาระหนี้ทั้งหมด รวมถึงภาระหนี้สำหรับการกู้บ้านจะต้องไม่เกิน 30% – 40% ของรายได้ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการซื้อบ้านในราคา 2 ล้านบาท คุณก็จะต้องผ่อนบ้านเดือนละประมาณ 14,000 บาท
แต่ถ้าหากคุณมีเงินเดือนอยู่ที่ 20,000 บาทการกู้ซื้อบ้านในราคา 2 ล้านบาทจะทำให้คุณมีภาระหนี้ในการผ่อนบ้านเกินกว่า 40% ของจำนวนรายได้ จึงควรลดราคาบ้านที่ต้องการซื้อให้ต่ำกว่านี้ หรือหาวิธีการสร้างรายได้เพิ่มเติมและขยันเก็บเงินให้มากขึ้น เป็นต้น
วิธีที่ 3: ประเมินแผนการเก็บเงิน
หากคุณเลือกใช้วิธีการเก็บเงินเพื่อซื้อบ้านหลังแรกในฝัน คุณควรที่จะเริ่มประเมินแผนการออมเงินของคุณดูได้แล้วว่า เหมาะสมกับเป้าหมายที่เป็นสินทรัพย์ชิ้นใหญ่อย่างบ้านหรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันคุณมีรายได้เดือนละ 30,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วคุณจะมีเงินเก็บอยู่ที่เดือนละ 10,000 บาท คุณตั้งเป้าหมายที่จะซื้อบ้านในราคา 5 ล้านบาท แต่คุณเลือกใช้วิธีการออมเงินด้วยการฝากประจำที่ให้ผลตอบแทนปีละ 2% นั่นเท่ากับว่า คุณจะต้องออมเงินเป็นเวลากว่า 40 ปีกว่าจะได้บ้านหลังแรกมาครอบครอง
นั่นหมายความว่า แผนการออมเงินที่มีอยู่ในปัจจุบันของคุณยังไม่เหมาะสมกับเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ดังนั้น คุณจึงควรปรับสัดส่วนการออมใหม่ โดยเริ่มต้นลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนต่อปีที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ลงทุนในหุ้น, กองทุน ฯลฯ ก็จะทำให้คุณสามารถออมเงินเพื่อซื้อบ้านในฝันได้ในจำนวนเงินที่มากขึ้นด้วย
2. เลือกซื้อบ้านหลังแรกจากวัตถุประสงค์ในการซื้อ
เนื่องจากบ้านในปัจจุบันมีรูปแบบให้เลือกซื้อได้หลายประเภท หลายทำเล และหลายระดับราคา การเลือกซื้อบ้านหลังแรกสำหรับคนที่ไม่มีประสบการณ์จึงอาจเป็นเรื่องยากในการหาบ้านหลังที่ใช่
และถ้าคุณไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร แนะนำให้เริ่มจากการเลือกจากวัตถุประสงค์ที่ทำให้ต้องการซื้อบ้านหลังนี้ เช่น เลือกซื้อเพื่ออยู่เอง, เลือกซื้อให้พ่อแม่, เลือกซื้อไว้ปล่อยเช่า เป็นต้น ซึ่งวัตถุประสงค์ของการเลือกซื้อบ้านแต่ละแบบก็จะมีวิธีการตัดสินใจซื้อที่แตกต่างกัน
เช่น ถ้าใครเลือกลงทุนซื้อบ้านเพื่อขายเก็งกำไรหรือปล่อยเช่าในอนาคตด้วย ก็จำเป็นที่จะต้องคิดเผื่อในด้านความต้องการของตลาดว่า บ้านแบบไหนจึงจะสามารถขายต่อหรือปล่อยเช่าได้ดี หรือเลือกทำเลที่มีศักยภาพในการปล่อยเช่าเป็นพิเศษมากกว่าคนที่เลืิกซื้อบ้านเพื่อการอยู่อาศัยอย่างเดียว เป็นต้น
3. เลือกซื้อบ้านหลังแรกจากทำเล
แต่ไหนแต่ไรมา เรื่องของทำเล (Location) มักเป็นปัจจัยแรกที่คนเราใช้ในการเลือกซื้อบ้าน เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของคนในยุคสมัยนี้ ไม่ได้มีบ้านไว้สำหรับการอยู่อาศัยแค่อย่างเดียว แต่มักจะคำนึงถึงความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตเป็นหลักด้วย
โดยเฉพาะคนที่เลือกซื้อบ้านหลังแรกเพื่อสร้างครอบครัวหรือลงหลักปักฐานแบบถาวร การเลือกทำเลอยู่อาศัยให้เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับทุกคนในครอบครัวจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการที่จะรู้ว่าทำเลไหนคือคำตอบที่ใช่นั้น ก็ต้องดูว่าคนในครอบครัวมีรูปแบบการใช้ชีวิตเป็นอย่างไร ชอบดื่ม กิน เที่ยวในที่แบบไหน หรือต้องเดินทางไปไหนเป็นประจำบ้าง
หลังจากนั้นให้หยิบตัวเลือกของทำเลที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกในแบบที่ต้องการขึ้นมา บวกกับดูวัตถุประสงค์และงบประมาณในกระเป๋าด้วยว่า เหมาะสมหรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ ก็ให้พิจารณาต่อว่า มีโครงการบ้านที่ไหนบ้างที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคุณเพิ่มเติมได้มากที่สุด
4. เลือกซื้อบ้านหลังแรกจากรูปแบบบ้าน
เชื่อได้เลยว่าปัญหาหนึ่งเวลาซื้อบ้านของใครหลายคน มักจะเป็นเรื่องของการเปรียบเทียบรูปแบบบ้านที่หาความลงตัวไม่ได้ เช่น โครงการนั้นส่วนกลางดี แต่ตกแต่งภายในบ้านไม่สวยเท่าอีกโครงการ หรืออีกโครงการมีราคาถูกกว่า แต่กลับไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่มากพอ ฯลฯ
แต่ก่อนจะไปถึงขั้นของการเปรียบเทียบความคุ้มค่าในเรื่องต่างๆ ที่แต่ละโครงการให้ได้ อาจจะต้องย้อนกลับมามองถึงเรื่องง่ายๆ อย่างการอยู่อาศัยว่า จริงๆ แล้วบ้านหลังนี้อยู่กันกี่คน มีใครบ้าง และรูปแบบบ้านประเภทไหนถึงจะตอบโจทย์กับคนในครอบครัวของคุณได้มากที่สุด
ยกตัวอย่างเช่น หากคุณเป็นคู่รักที่อยู่กันแค่ 2 คน ไม่ได้อยากสร้างครอบครัวใหญ่ และมีงบประมาณในการซื้อที่ค่อนข้างจำกัด รูปแบบบ้านที่เลือกอาจจะเปรียบเทียบกันระหว่างบ้านมือหนึ่งกับบ้านมือสองที่มีข้อดี-ข้อเสียต่างกัน
รวมถึงดีไซน์ของตัวบ้านเองที่ก็ต้องเทียบขนาดการใช้งานระหว่างบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และบ้านทาวน์โฮมว่า แบบไหนตอบโจทย์กับวิถีชีวิตได้มากกว่ากัน หลังจากนั้นจึงค่อยเลือกนำโครงการที่มีรูปแบบบ้านที่ต้องการมาคัดเลือกอีกที…เพียงแค่นี้ก็จะช่วยทำให้ลดระยะเวลาในการตัดสินใจเลือกซื้อบ้านหลังแรกไปได้เยอะเลยทีเดียว
5. เลือกซื้อบ้านหลังแรกจากความน่าเชื่อถือของโครงการ
ชื่อเสียงของผู้พัฒนาโครงการก็ถือปัจจัยหนึ่งที่จะลืมดูไม่ได้เลยในการเลือกซื้อบ้านหลังแรก โดยจะต้องพิจารณาจากประสบการณ์ในการก่อสร้างซึ่งเป็นผลงานในอดีตว่า มีความน่าเชื่อถือมาก-น้อยขนาดไหน
ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นเครื่องรับประกันในเบื้องต้นว่า คุณจะได้บ้านที่มีมาตรฐานทั้งความแข็งแรง สร้างเสร็จตามเวลา ไม่มีการยกเลิกกลางคันระหว่างการก่อสร้าง รวมถึงยังมั่นใจได้ว่า บริการหลังการขายของโครงการที่ตัดสินใจเลือกซื้อจะมีเซอร์วิสที่ดีและปลอดภัยให้ในระยะยาว
6. เลือกซื้อบ้านหลังแรกจากวิธีการกู้ซื้อบ้าน
หลังจากผ่านกระบวนการเลือกซื้อทั้งหมดมาแล้ว สุดท้ายจะเป็นขั้นตอนของการกู้ซื้อบ้านที่มือใหม่ควรจะศึกษาและรู้ถึงรูปแบบการยื่นกู้ซื้อบ้านว่ามีเรื่องอะไรที่คุณจะต้องเตรียมตัวบ้างเพื่อให้การกู้ซื้อทำได้ง่ายและผ่านฉลุย
ยกตัวอย่างสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการกู้ซื้อบ้าน เช่น การเตรียมเอกสารขอสินเชื่อบ้านให้ผ่านในหนเดียว วิธีการเลือกธนาคารสำหรับการกู้ซื้อบ้าน รูปแบบการกู้สินเชื่อที่ในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องยื่นกู้ซื้อบ้านคนเดียวอีกต่อไป แต่ยังมีวิธีการกู้ร่วมเพื่อขอสินเชื่อบ้านจากทางธนาคารได้ง่ายขึ้นอีกด้วย เป็นต้น
ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดนี้คุณสามารถขอเข้ารับปรึกษากับทางธนาคาร หรือศึกษาข้อมูลผ่านเว็บไซต์ถึงวิธีการเตรียมความพร้อมก่อนยื่นกู้ด้วยตัวเองได้เลย
สรุป
สรุปแล้วสิ่งที่ควรรู้สำหรับการซื้อบ้านหลังแรกคือ ความต้องการที่จะช่วยกำหนดปัจจัยต่างๆ ในการเลือกซื้อบ้านของคุณเอง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้คุณมีความรอบคอบในการตัดสินใจ และมีเหตุผลที่สนับสนุนให้คุณตัดสินใจได้แม่นยำมากขึ้น
เพราะบ้านจะเป็นภาระผูกพันในระยะยาวที่เราต้องผ่อนไปตลอดในทุกๆ เดือน ดังนั้นจึงไม่ควรใจร้อน และใช้เวลาในการพิจารณาตั้งแต่ขั้นแรกของการตามหาบ้านในฝันหลังที่ใช่ ไปจนถึงขั้นสุดท้ายของการตัดสินใจกู้สินเชื่อบ้านให้มาก เพื่อที่จะได้บ้านหลังแรกที่ตรงใจและสามารถจัดสรรค่าใช้จ่ายที่ถึงจะจ่ายค่าผ่อนบ้านหลักหมื่น แต่ก็ยังมีสภาพคล่องทางการเงินที่สูงอยู่ได้นั่นเอง